6 December 23 กรุงเทพธุรกิจ by Kanokkan
การเดินกลยุทธ์ 'แทงสวน' ไม่มีถอย! ของ 'อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย' เพื่อดิ้นรนหนีผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อวิกฤติโรคระบาดคลี่คลายชัดกระทั่งผ่านไป 1 ปี ตลาด 'งานแสดงสินค้า' (Exhibition) ยังคงเผชิญภาวะแกว่งตัว บริษัทจึงรุกเพิ่มงานแสดงสินค้าใหม่ๆ ในปี 2566
สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ฉายภาพรวมว่า ตลอดปี 2566 เห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีของธุรกิจงานแสดงสินค้า สอดรับกับที่บริษัทได้จัดเตรียมงานเอาไว้ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการเพิ่ม “งานใหม่” อีก 7 งาน รวมกับงานเก่า 6 งาน เป็น 13 งาน ส่งผลให้ปีนี้บริษัทมีรายได้รวม 1,300 ล้านบาท ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ 900 ล้านบาท ทั้งยังดีกว่ารายได้ปี 2562 ก่อนโควิด ซึ่งปิดตัวเลขที่ 880 ล้านบาทอีกด้วย
“ช่วงโควิดยังระบาด บริษัทมีการปั่นโปรไฟล์ด้วยการเพิ่มงานแสดงสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จากปี 2562 มี 6 งาน จนมี 13 งานในปี 2566 ซึ่งมีผู้เข้าชมงาน (Visitor) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% เมื่อเทียบกับปี 2565”
“ปัจจัยการเติบโต” เกิดขึ้นจากการที่บริษัทดึง “พันธมิตรใหม่” เข้ามาจัดงานในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งการร่วมทุน (Joint Venture) กับพันธมิตรบริษัทลูกในเครืออินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ “โคลนนิ่ง” งานแสดงสินค้าในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ มาขยายตลาดจัดในไทย เช่น งาน Jewellery & Gem Asean Bangkok และ งาน Cosmoprof CBE Asean Bangkok เกี่ยวกับอุตสาหกรรมความงาม จากฮ่องกง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรผู้จัดงานรายอื่นๆ ที่ในอดีตเคยเป็นคู่แข่ง มาจัดงานด้วยกัน
อีกปัจจัยสำคัญคือมุมมองต่อการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ผู้ร่วมงานจากต่างชาติมองว่าไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีภาพลักษณ์การเป็น “งานระดับภูมิภาคอาเซียน” เห็นได้จากหลายๆ บริษัทมีการขยายตัวทางธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ใช่เฉพาะ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เท่านั้น
“เราเห็นว่าปัจจุบันนักธุรกิจชาวจีนเดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าในไทยจำนวนมากจากทุกเซ็กเตอร์ เพื่อออกบูธนำเสนอขายสินค้าและเทคโนโลยี มีความตั้งใจสูงในการขายแบบสู้ตาย หลังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีน อัดฉีดเงินให้ชาวจีนเดินทางออกไปหาธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาชะลอตัว อาทิ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกบูธ โดยมี KPI วัดผลชัดเจน ทำให้งานแสดงสินค้าบางงานที่อินฟอร์มาฯ เป็นผู้จัดงาน ได้รับความนิยมจากธุรกิจในประเทศจีนอย่างมาก จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่แก่ผู้ที่มาออกบูธจากประเทศจีน ยกเว้นบางงานที่ประเทศจีนเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง”
ขณะเดียวกัน เทรนด์การจัดงานแสดงสินค้าระดับโลกได้เปลี่ยนไป! บางจุดหมายที่เคยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ประสบภาวะ “ค่าครองชีพพุ่งสูง” ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่ผู้จัดงานใหม่ๆ ต่างมองหาเพื่อเข้ามาขยายธุรกิจมากขึ้น
และอีกปัจจัยเสริมที่ช่วยเติมเสน่ห์ให้กับประเทศไทย คือการเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวระดับโลก! มีค่าครองชีพและต้นทุนการเดินทางไม่แพง นอกจากนี้บางอุตสาหกรรมกำลังเนื้อหอมในไทยอย่างมาก ผู้ประกอบการต่างเข้ามารุมช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่เห็นการเติบโตแบบเท่าตัว รวมถึงงานด้านสุขภาพและความงามก็เป็นอีกเซ็กเตอร์ที่มาแรง
ทั้งหมดนี้ล้วนสร้าง “แรงส่ง” (Momentum) ที่ดีไปยังปี 2567 แม้จะมี “ปัจจัยน่ากังวล” เช่น การชะลอตัวของตลาดผู้ซื้อ (Buyer) และผู้ออกบูธขายสินค้า (Exhibitor) จากตลาดยุโรปและอเมริกา รวมถึงภาวะ “เศรษฐกิจโลกชะลอตัว” ยังไม่กลับมาเต็มร้อย บางโปรไฟล์งานแสดงสินค้าได้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้เจอกันง่ายขึ้น ทำให้บริษัทต้องเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการจัดงานแบบ Face-to-Face และสร้างคอนเทนต์ภายในงานให้น่าสนใจ ภายใต้ร่มใหญ่คือการคิดคอนเซ็ปต์ ยกระดับการจัดงานให้ “จับใจคน” ถูกตาต้องใจผู้ร่วมงานมากที่สุด!
สรรชาย เล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อแนวโน้มธุรกิจงานแสดงสินค้าในไทยเติบโตดีต่อเนื่อง บริษัทจึงตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2567 ไว้ที่ 1,180 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากบางงานจัด 2 ปีต่อครั้ง ต้องเว้นช่วงไปจัดปีถัดไป โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงานเฉลี่ยทุกงานในปีหน้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15%
ส่วนในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 1,450 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำได้ ไม่เกินจริง เน้นทำงานอย่างชาญฉลาด (Work Smart) ภายใต้โจทย์การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับการทำกำไร!
“หลังจากบริษัทเราดิ้นรนฝ่าวิกฤติโควิด-19 มาได้ ด้วยการฉวยจังหวะในช่วงแย่ เลือกแทงสวน ไม่ยอมถอย ลุยขยายธุรกิจ เพิ่มโปรไฟล์งานแสดงสินค้าใหม่ๆ ทำให้เราสามารถดีดตัวขึ้นมารองรับการฟื้นตัวของภาพรวมตลาดงานแสดงสินค้าได้ ท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ตกอยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ ไม่ดี ไม่แย่ แต่จากกลยุทธ์ที่บริษัทได้จัดเตรียมไว้ จะทำให้เราสามารถดิ้นรนฝ่าความท้าทายนี้ไปได้”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1102030