The directory provides the answer to all your convention and exhibition needs and requirement in Thailand.

NEWS

    

'เซ็นทรัลพัฒนา' แนะผู้ประกอบการ สู้ด้วยกาแฟพิเศษ 'สเปเชียลตีคอฟฟี่'

“สเปเชียลตีคอฟฟี่"

'เซ็นทรัลพัฒนา' บูมกาแฟไทย สู่แลนด์มาร์กของลูกค้า หวังต่อยอดเป็นอีเวนต์ประจำปีระดับโลก ผุดงานใหญ่ปลายปี 'Thailand Coffee Hub' ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หนุนตลาดกาแฟพิเศษไทยมูลค่า 2,000 ล้านบาทโต ดึงคนเข้ามาร่วมงานกว่า 1.50 แสนคน

นางขวัญแก้ว สิริจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานการส่งเสริมธุรกิจ ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนาวางกลยุทธ์สนับสนุนธุรกิจโลคอลและภูมิภาคก้าวสู่ตลาดโลก (Support Local & Cross - Region) รวมถึงสินค้ากาแฟ โดยจัดงานเทศกาลกาแฟไทย โรดโชว์ในหัวเมืองและเมืองท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อให้อีเวนต์เทศกาลกาแฟไทย กลายเป็นงาน “เวิลด์ คอฟฟี่ อีเวนต์ เดสทิเนชัน” ที่ดึงดูดนักดื่มกาแฟจากทั่วโลก และขยายตลาดกาแฟไทยสู่การส่งออก

สำหรับงานเทศกาลงานกาแฟ (Thailand Coffee Hub) ปี 2567 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 2 - 8 ต.ค. วางให้เป็นศูนย์รวมกาแฟจากทั่วประเทศและมีกาแฟท้องถิ่นจากพื้นที่ต่างๆ ประเมินว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมงานกว่า 1.5 แสนคน เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน ส่วนเทศกาลกาแฟตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จัดไปแล้วที่เซ็นทรัล นครสวรรค์ เซ็นทรัลพัทยา และเซ็นทรัล ขอนแก่น มีผู้ร่วมงานประมาณ 3 - 5 หมื่นคนต่องาน

"เซ็นทรัลพัฒนาร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมกาแฟไทย เพื่อสร้าง Coffee Ecosystem ที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ทั้งจากภาคเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โรงคั่ว แบรนด์กาแฟคุณภาพ สู่ผู้บริโภค พร้อมวางเป้าหมาย ระดับเทศกาลกาแฟของไทยให้อยู่ในลิสต์ World Coffee Destination ที่คอกาแฟทั่วโลกต้องมางานนี้ที่ประเทศไทย"

“งานกาแฟ"

ชู เซ็นทรัลเวิลด์ แลนด์มาร์คงานกาแฟในโลก

ทั้งนี้ การจัดงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจสูง มีแบรนด์กาแฟร่วมงานกว่า 300 แบรนด์ สร้างเม็ดเงินให้อุตสาหกรรมกาแฟไทยกว่า 30 ล้านบาท รวมถึงต่อยอดผู้ประกอบการไทยหลายราย ทั้งแบรนด์กาแฟ นานาคอฟฟี่ โรสเตอร์ (Nana Coffee Roaster) เข้ามาเปิดสาขาแรกในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ รวมถึงร้าน เยลโล สทัฟ (Yellow stuff) มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

"เราอยากให้ทุกคนเมื่อนึกถึงกาแฟพรีเมียม ต้องคิดถึงประเทศไทยและทำให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางเข้ามาในประเทศ"

นอกจากนี้ในงานยังร่วมเฟ้นหา Rising star barista เพื่อสนับสนุนบาริสต้าของประเทศไทยสู่เวทีนานาชาติต่อไป

นางสาวณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) กล่าวว่า ตลาดกาแฟพรีเมียมของไทย มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดนี้ขยายตัว 25% ทุกปี ส่วนตลาดรวมกาแฟไทยรวมทุกกลุ่ม ประมาณ 1 แสนล้านบาท ขยายตัวระหว่างปี 2564 - 2566 ประมาณ 8.55%

สำหรับธุรกิจกาแฟพิเศษของไทยที่ขยายตัวสูงกว่าตลาดรวม เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตที่แตกต่าง มีคุณภาพสูง ให้รสชาติพิเศษในแต่ละพื้นที่ และความสนใจในการบริโภคที่มีมากขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ในกลุ่มเจน Z แต่ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงเป็น เรดโอเชียน มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาเปิดสาขาต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ประกอบการต้องศึกษาตลาดให้เข้าใจในเชิงลึกก่อนลงทุน ทั้งนี้ราคากาแฟพิเศษของไทย มีตั้งแต่ระดับ 100 บาทขึ้นไป จนถึงประมาณ 1,500 บาท

อย่างไรก็ตาม หากประเมินภาพรวมประเทศไทย มีการผลิตกาแฟประมาณ 40,000 - 50,000 ตันต่อปี แต่มีการบริโภคสูงถึง 1 แสนตันต่อปี ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงไทยไม่สามารถเน้นการผลิตจำนวนมากได้ เนื่องจากพื้นที่การเพาะปลูกและต้นทุนไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น เวียดนาม และลาว เป็นต้น จึงควรมุ่งเน้นการพัฒนายกระดับการผลิตและคุณภาพกาแฟ พร้อมชูเรื่องคุณภาพ สร้างการจดจำแก่ลูกค้าในทั่วโลก

“ทางรอดของผู้ผลิตกาแฟไทย ต้องมุ่งการไปสู่การสร้างกาแฟที่มีคุณภาพและแตกต่าง โดยเฉพาะทำกาแฟพิเศษ ทำให้ได้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และความแตกต่าง เนื่องจากผู้ผลิตไทยไม่สามารถไปแข่งขันในเรื่องการปลูกจำนวนมากได้และต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศอื่น"

ราคากาแฟในตลาดโลก ปรับลดลงแล้ว 20 - 30%

ส่วนแนวโน้มราคากาแฟในตลาดโลกปี 2567 เริ่มปรับลงมาประมาณ 20 - 30% เนื่องจากผลผลิต เมล็ดกาแฟ จากประเทศรายใหญ่ออกมาสู่ตลาดมากขึ้น อย่าง ประเทศบราซิล ทำให้ราคาไม่ขึ้นสูง เหมือนช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลทำให้ ราคานำเข้าจากต่างประเทศต่ำลงด้วย

"ในช่วงที่ผ่านมา ราคาวัตถุดิบกาแฟนำเข้าจากต่างประเทศปรับขึ้นสูงมาก เนื่องจากผู้ผลิตหลักอย่างบราซิล มีปัญหาผลผลิตน้อย ทำให้ผู้ผลิตกาแฟไทยและกาแฟพร้อมชง ที่เป็นแบรนด์ใหญ่ในตลาดจึงต้องปรับขึ้นราคาเกือบทั้งหมดตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบัน ผลผลิตออกมาสู่ตลาดได้มากขึ้น ทำให้ราคากลับสู่ภาวะที่ปกติแล้ว"

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจภาพรวมกาแฟพิเศษ ในตลาดโลก ส่วนใหญ่จะนึกถึงประเทศจากภูมิภาคอเมริกาใต้ เช่น กาแฟพิเศษ สายพันธุ์เกอิชา จากเอธิโอเปีย ที่ให้ความรู้สึกถึงความหรูหรา และรสชาติที่ผสมผสานจากดอกไม้ด้วย ทำให้ราคาแพงมาก แต่ในประเทศไทย ได้เน้นการปลูกสายพันธุ์ จาวา (Java) ที่ให้รสชาติพิเศษและมีเอกลักษณ์ ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความเหมาะสมกับการปลูกในไทย เนื่องจากทนทานต่อโรคและสภาพอากาศต่างๆ ได้ดีมากกว่า

“กาแฟ"

เจาะอินไซต์นักดื่มกาแฟในแต่ละภูมิภาค

ทั้งนี้ เมื่อประเมินภาพรวมการดื่มกาแฟของคนไทย พบว่า เฉลี่ยประมาณ 1.5 แก้วต่อวัน โดยเมื่อมาสำรวจฐานนักดื่มกาแฟไทย ในแต่ละภูมิภาค จะชื่นชอบการดื่มกาแฟที่มีรสชาติแตกต่างกันคือ

- ภาคเหนือกาแฟ ชื่นชอบกาแฟคั่วอ่อน ตามแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่นชอบ กาแฟที่มีรสเปรี้ยวผสม

- ภาคใต้ ชื่นชอบกาแฟคั่วเข้ม ตามแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า

- ภาคกลาง และกทม. ชื่นชอบกาแฟรสชาติ หลากหลาย

- ภาคตะวันออก ยังไม่มีชัดเจน

- เทรนด์ภาพรวมคนไทยสนใจดื่มกาแฟ "อเมริกาโน่" มากขึ้น จากเดิม 4 - 5 ปีเน้นกาแฟใส่นม เนื่องจากความสนใจสุขภาพสูงขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1147570