The directory provides the answer to all your convention and exhibition needs and requirement in Thailand.

NEWS

    

‘อินฟอร์มา’ งัดกลยุทธ์แทงสวน ฟื้นรายได้ ‘เอ็กซิบิชัน’ สู่เป้า 1,450 ล้านปี 68

“สรรชาย

การเดินกลยุทธ์ 'แทงสวน' ไม่มีถอย! ของ 'อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย' เพื่อดิ้นรนหนีผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อวิกฤติโรคระบาดคลี่คลายชัดกระทั่งผ่านไป 1 ปี ตลาด 'งานแสดงสินค้า' (Exhibition) ยังคงเผชิญภาวะแกว่งตัว บริษัทจึงรุกเพิ่มงานแสดงสินค้าใหม่ๆ ในปี 2566

สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ฉายภาพรวมว่า ตลอดปี 2566 เห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีของธุรกิจงานแสดงสินค้า สอดรับกับที่บริษัทได้จัดเตรียมงานเอาไว้ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการเพิ่ม “งานใหม่” อีก 7 งาน รวมกับงานเก่า 6 งาน เป็น 13 งาน ส่งผลให้ปีนี้บริษัทมีรายได้รวม 1,300 ล้านบาท ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ 900 ล้านบาท ทั้งยังดีกว่ารายได้ปี 2562 ก่อนโควิด ซึ่งปิดตัวเลขที่ 880 ล้านบาทอีกด้วย

“ช่วงโควิดยังระบาด บริษัทมีการปั่นโปรไฟล์ด้วยการเพิ่มงานแสดงสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จากปี 2562 มี 6 งาน จนมี 13 งานในปี 2566 ซึ่งมีผู้เข้าชมงาน (Visitor) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% เมื่อเทียบกับปี 2565”

“ปัจจัยการเติบโต” เกิดขึ้นจากการที่บริษัทดึง “พันธมิตรใหม่” เข้ามาจัดงานในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งการร่วมทุน (Joint Venture) กับพันธมิตรบริษัทลูกในเครืออินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ “โคลนนิ่ง” งานแสดงสินค้าในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ มาขยายตลาดจัดในไทย เช่น งาน Jewellery & Gem Asean Bangkok และ งาน Cosmoprof CBE Asean Bangkok เกี่ยวกับอุตสาหกรรมความงาม จากฮ่องกง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรผู้จัดงานรายอื่นๆ ที่ในอดีตเคยเป็นคู่แข่ง มาจัดงานด้วยกัน

อีกปัจจัยสำคัญคือมุมมองต่อการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ผู้ร่วมงานจากต่างชาติมองว่าไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีภาพลักษณ์การเป็น “งานระดับภูมิภาคอาเซียน” เห็นได้จากหลายๆ บริษัทมีการขยายตัวทางธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ใช่เฉพาะ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เท่านั้น

“เราเห็นว่าปัจจุบันนักธุรกิจชาวจีนเดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าในไทยจำนวนมากจากทุกเซ็กเตอร์ เพื่อออกบูธนำเสนอขายสินค้าและเทคโนโลยี มีความตั้งใจสูงในการขายแบบสู้ตาย หลังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีน อัดฉีดเงินให้ชาวจีนเดินทางออกไปหาธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาชะลอตัว อาทิ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกบูธ โดยมี KPI วัดผลชัดเจน ทำให้งานแสดงสินค้าบางงานที่อินฟอร์มาฯ เป็นผู้จัดงาน ได้รับความนิยมจากธุรกิจในประเทศจีนอย่างมาก จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่แก่ผู้ที่มาออกบูธจากประเทศจีน ยกเว้นบางงานที่ประเทศจีนเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง”

ขณะเดียวกัน เทรนด์การจัดงานแสดงสินค้าระดับโลกได้เปลี่ยนไป! บางจุดหมายที่เคยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ประสบภาวะ “ค่าครองชีพพุ่งสูง” ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่ผู้จัดงานใหม่ๆ ต่างมองหาเพื่อเข้ามาขยายธุรกิจมากขึ้น

และอีกปัจจัยเสริมที่ช่วยเติมเสน่ห์ให้กับประเทศไทย คือการเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวระดับโลก! มีค่าครองชีพและต้นทุนการเดินทางไม่แพง นอกจากนี้บางอุตสาหกรรมกำลังเนื้อหอมในไทยอย่างมาก ผู้ประกอบการต่างเข้ามารุมช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่เห็นการเติบโตแบบเท่าตัว รวมถึงงานด้านสุขภาพและความงามก็เป็นอีกเซ็กเตอร์ที่มาแรง

ทั้งหมดนี้ล้วนสร้าง “แรงส่ง” (Momentum) ที่ดีไปยังปี 2567 แม้จะมี “ปัจจัยน่ากังวล” เช่น การชะลอตัวของตลาดผู้ซื้อ (Buyer) และผู้ออกบูธขายสินค้า (Exhibitor) จากตลาดยุโรปและอเมริกา รวมถึงภาวะ “เศรษฐกิจโลกชะลอตัว” ยังไม่กลับมาเต็มร้อย บางโปรไฟล์งานแสดงสินค้าได้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้เจอกันง่ายขึ้น ทำให้บริษัทต้องเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการจัดงานแบบ Face-to-Face และสร้างคอนเทนต์ภายในงานให้น่าสนใจ ภายใต้ร่มใหญ่คือการคิดคอนเซ็ปต์ ยกระดับการจัดงานให้ “จับใจคน” ถูกตาต้องใจผู้ร่วมงานมากที่สุด!

สรรชาย เล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อแนวโน้มธุรกิจงานแสดงสินค้าในไทยเติบโตดีต่อเนื่อง บริษัทจึงตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2567 ไว้ที่ 1,180 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากบางงานจัด 2 ปีต่อครั้ง ต้องเว้นช่วงไปจัดปีถัดไป โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงานเฉลี่ยทุกงานในปีหน้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15%

ส่วนในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 1,450 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำได้ ไม่เกินจริง เน้นทำงานอย่างชาญฉลาด (Work Smart) ภายใต้โจทย์การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับการทำกำไร!

“หลังจากบริษัทเราดิ้นรนฝ่าวิกฤติโควิด-19 มาได้ ด้วยการฉวยจังหวะในช่วงแย่ เลือกแทงสวน ไม่ยอมถอย ลุยขยายธุรกิจ เพิ่มโปรไฟล์งานแสดงสินค้าใหม่ๆ ทำให้เราสามารถดีดตัวขึ้นมารองรับการฟื้นตัวของภาพรวมตลาดงานแสดงสินค้าได้ ท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ตกอยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ ไม่ดี ไม่แย่ แต่จากกลยุทธ์ที่บริษัทได้จัดเตรียมไว้ จะทำให้เราสามารถดิ้นรนฝ่าความท้าทายนี้ไปได้”

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1102030