The directory provides the answer to all your convention and exhibition needs and requirement in Thailand.

NEWS

    

กรมการแพทย์แผนไทยฯ ลุยสัมมนากัญชารายสัปดาห์

“กัญชา"

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เร่งขับเคลื่อนความเข้าใจในการใช้ “กัญชา” เปิดเวทีเสวนาทุกอาทิตย์ หวังสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน เห็นคุณค่ากัญชา และใช้อย่างถูกต้อง

นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดประชุมวิชาการ “กัญชา” หรือ DTAM Forum ทุกอาทิตย์ในวันจันทร์ หรือ วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น. ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – เดือนธันวาคม 2565 ทั้งออนไซด์และออนไลน์

“นายแพทย์ธงชัย

โดยมีวัตถุประสงค์ ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาในแง่มุมต่างๆที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ป่วย ประชาชน และ ผู้ประกอบการมีข้อมูลที่มากพอในการที่จะนำไปใช้ประโยชน์

การจัดประชุมและเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ วันอังคารที่ 6 ธ.ค.65 เรื่อง “กัญชา ภูมิปัญญาไทย ในการดูแลสุขภาพ”

- วันอังคารที่ 13 ธ.ค.65 เรื่อง “งานวิจัยกับการใช้กัญชาในการดูแล สุขภาพ”

- วันจันทร์ที่ 19 ธ.ค.65 เรื่อง “เส้นทางกัญชาไทยสู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก”

- วันจันทร์ที่ 26 ธ.ค.65 เรื่อง“การใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมรักษา เพื่อลดความรุนแรงของผู้ติดยาเสพติด”

หลังจากก่อนหน้านี้จัดในหัวข้อ “การใช้กัญชาไทยในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง กรณีศึกษา มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 4”วันจันทร์ที่ 21 พ.ย.65, “การใช้และส่งเสริมกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ ในประเทศและต่างประเทศ วันจันทร์ที่ 28 พ.ย.65

สำหรับผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมรับฟังการเสวนาได้ที่ ห้องประชุม สุวรรณพฤกษ์ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จ.นนทบุรี และสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง facebook Live กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

“กัญชา"

ในส่วนการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทางกรมก็เร่งหาแนวทางดำเนินการให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “การใช้และส่งเสริมกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ ในประเทศและต่างประเทศ (สาธารณรัฐมอลตาและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี)” ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

โดยเป็นการเล่าประสบการณ์ จากนักวิชาการ ผู้ประกอบการและ ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผอ.กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ เล่าประสบการณ์การใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ซึ่งเป็นประสบการณ์จากการประชุมวิชาการ MED-Can 2022 (สาธารณรัฐมอลตา)

โดยกล่าวว่า มูลค่าตลาดกัญชาในยุโรป อยู่ที่ 12,000 ล้านดอลล่าร์ อยู่ตลาดสหรัฐอเมริกาสูงถึง 10,000 ล้านดอลล่าร์ และมีประเทศที่มีกฎหมายกัญชารองรับอยู่ประมาณ 10%

สถานภาพผลิตภัณฑ์กัญชาในตลาดโลก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเฉพาะ CBD (THC 0%) เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย (กัญชายังเป็นยาเสพติด) กลุ่มที่ 2 เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์ พบในประเทศที่อนุญาตให้ใช้ได้ภายใต้การควบคุม พบมากกว่า 40 ประเทศ (ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้) กลุ่มที่ 3 สามารถใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ พบในประเทศที่เปิดกัญชาเสรีแบบเต็มตัว ได้แก่ อุรุกวัย จอร์เจียร์ แคนาดา แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกาใน 17 มลรัฐ

“กัญชา"

นอกจากนี้ยังเล่าถึงหัวข้อสำคัญที่มีการพูดถึงใน MED-Can 2022 ดังนี้

1) การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศอังกฤษ จะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่สั่งจ่าย จึงเกิดการเข้าถึงยากัญชาน้อย ทำให้เกิดการเรียกร้องให้แก้กฎหมายในอังกฤษ

2) การพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชาให้เดินหน้าได้ ต้องทำความเข้าใจ ให้ความรู้ เพราะคนยังมีความรู้สึกว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ต้องพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการส่งออก ต้องมีระบบบริการจัดการไม่ให้คนใช้ในทางที่ผิด

3) ในอนาคตจะไม่มีเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชา แต่จะมียากัญชาที่มีกระบวนการผลิต มีการระบุหลักการใช้ การออกฤทธิ์ มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดเจน ขณะนี้มีทั้งรูปแบบยาพ่น ยาอม ยานอนหลับ

4) กัญชาถูกนำมาใช้ทางการแพทย์เป็นอย่างมากเพื่อการลดปวด ในยุโรปและอเมริกา และ

5) การลงทุนต้องรอตลาดให้โตทัน

ล่าสุด หลายประเทศในแถบเอเชียกำลังตื่นตัวในการส่งเสริมธุรกิจกัญชา กัญชง แต่ประเทศไทยได้เปรียบเพราะมีองค์ความรู้ที่แน่น มีตำรับยาแผนไทยเกี่ยวกับกัญชา เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่สร้างเศรษฐกิจจากต่างประเทศ โดยเน้น Medical well-being

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Asian Cannabis Report กล่าวว่ากัญชามีโอกาสพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายทั้งสำหรับคนและสัตว์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หากสินค้ามีคุณภาพและมีการวิจัยทางคลินิกรับรองจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสูงมาก

“ประชุมวิชาการ"

นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้ายว่า จะเห็นว่าการจัดประชุมวิชาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นเวทีที่เปิดกว้างเพื่อให้สามารถนำประสบการณ์ องค์ความรู้ด้านกัญชาที่หลากหลายมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการต่อยอดทางภูมิปัญญา

แต่ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่อนุญาตการใช้เพื่อสันทนาการ ส่วนการนำเข้ากัญชาจะยอมรับเพียงบางประเทศ เฉพาะที่มีมาตรฐาน EU GMP ซึ่งในประเทศไทย/ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่รับนำเข้า

ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องศึกษาข้อมูลและกฎหมายของประเทศที่จะส่งออกด้วย และทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเองจะเร่งขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์และเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และประชาชน อย่างต่อเนื่องต่อไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/marketing/news-1138150